พืชตระกูลถั่ว มีความสำคัญสำหรับการเลี้ยงแพะ
พืชตระกูลถั่วมีความสำคัญสำหรับการเลี้ยงแพะ และเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้แพะเจริญเติบโตดีมีครบทั้งวิตามินและแร่ธาตุ
การเลี้ยงแพะให้เติบโตด้วยต้นทุนที่ต่ำ มีหลายปัจจัยและหลายวิธีเลี้ยง และเงินลงทุนของเกษตรกรเอง เลี้ยงแพะให้อยู่รอดปลอดภัย เมื่อมีวิกิจก็จะผ่านไปได้ แม้ราคาจะตกต่ำ บทความนี้จะบอกกล่าวถึงวิธีการเลี้ยงแบบสบายกระเป๋า เงินเกือบอยู่ครบ จะบอกว่าไม่มีลงทุน ก็คงไม่ใช้ ทุกอย่างต้องมีการลงทุน ออกแรงก็ต้องคิดเป็นต้นทุนด้วยเช่นกัน
การเลี้ยงแพะโดยใช้วัตถุดิบที่มี หาง่าย ปลูกง่าย และอยู่รอบตัวเรา คอกแพะของเกษตรผสมผสานบ้านนาทอง
เลี้ยงแพะแบบไล่ทุ่ง ไม่ใช่แค่ปล่อยแพะไปตามท้องทุ่งท้องนา หรือป่าริมทาง แบบนั้นใครๆก็ทำได้ เลี้ยงแบบไม่สนใจอาจมีความเสียหายตามมา เกษตรผสมผสานบ้านนาทอง มีแนวคิดที่ว่า เลี้ยงแพะบนพื้นฐานทรัพยากรชีวภาพที่มีและประยุกส์ใช้เทคโนโลยีภายใต้ข้อจำกัด
ดูจะยาว ย่อๆคือ พึ่งพาตัวเองให้มากที่สุด เอาวัตถุดิบที่มี มาดัดแปลงให้เกิดความคุ้มค่าแบบชาวบ้านชาวนา
เกษตรผสมผสานบ้านนาทองจะเน้นพืชตระกูลถั่วเป็นหลัก ในการบริหารและจัดการคอกแพะเรื่องอาหารแพะนั้นมีความสำคัญระดับหนึ่งที่ต้องใส่ใจรายละเอียด
เรามีสูตรที่แสนง่ายและใช้ได้ผลดีกับการเลี้ยงแพะในคอกของเรา คือกฎ 70:30 ตัวเลขนี้บ่งบอกอะไร
ตัวเลข 70 แทนความหมายอาหารหยาบพืชหรือใบไม้ จะสด จะหมัก จะแห้งใช้ได้หมด ขยายความอีกเล็กน้อย อาจเป็นหญ้าที่ปลูกหรือหญ้าขึ้นเองตามธรรมชาติ ส่วนใหญ่จะมีโปรตีนไม่สูง ประมาณ 2-10 % ส่วนตัวเลข 30 หมายถึงใช้พืชตระกูลถั่วให้เสริม ปกติจะมีโปรตีนไม่ต่ำกว่า15%
ตัวเลขนี้จะใช้กำหนดสัดส่วนน้ำหนักอาหารแพะที่ต้องหาพืชหรือใบไม้มาให้แพะกินให้อยู่สัดส่วนนี้ จะทำให้การเลี้ยงแพะเรามีสุภาพแข็งแรง และสามารถเพื่มไขมันหรือกล้ามเนื้อได้ไม่ต่ำกว่า 35-65 กรัมต่อวัน โดยไม่จำเป็นต้องเสริมแร่ธาตุใดๆให้กับแพะเลย ถ้าเกษตรกรสามารถจัดหาอาหารหยาบที่มีโปรตีนสูง(โปรตีนไม่ต่ำกว่า 10% ตัวเลขฝั่ง 70) และมีการเสริมพืชตระกูลถั่ว (โปรตีนไม่ต่ำกว่า 15% ตัวเลขฝั่ง30) จะทำให้แพะมีน้ำหนักเพื่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 70 กรัมต่อวัน
รูปที่3 ต้นจานออกดอก เข้าหน้าแล้งสมบูรณ์
ถ้าเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะไม่สามารถจัดหาได้ตามที่กล่าวมาจะทำให้แพะมีพลังงานแค่การดำรงชีวิตอยู่เท่านั้น มันจะไม่อ้วนหรือผอมนั้นเอง เกษตรผสมผสานบ้านนาทองเน้นใช้วัสดุดิบท้องถิ่น หญ้าหรือใบไม้รอบตัวในการจัดการด้านอาหารแพะ และพยายามห่างไกลจากการซื้อหัวอาหาร หรืออาหารสำเร็จรูปทุกรูปแบบ
แพะที่เราเลี้ยงแบบไล่ทุ่ง จะแข็งแรง และมีภูมิคุ้มกันโรคเพื่มขึ้น มีวิตามินและแร่ธาตุจากหญ้าหรือใบไม้ธรรมชาตินั้นเอง เนื้อแพะจะแตกต่างจากแพะที่เลี้ยงแบบจำกัดชนิดของอาหาร เช่นเลี้ยงแบบคักคอก อาหารที่ให้แพะกินจะไม่หลากหลาย ทำให้ขาดวิตามินและแร่ธาตุ จะเห็นว่าการเลี้ยงแบบคักคอกต้องเสริมวิตามินและแร่ธาตุเข้าไปในอาหาร รวมถึงมีแร่ธาตุก้อนให้แพะเลียกิน
การเลี้ยงแบบไล่ทุ่ง นิยามของเราคือ อุดมสมบูรณ์ไปด้วย โปรตีน พลังงาน วิตามินและแร่ธาตุจากความหลากหลายทางชีวภาพ คนเลี้ยงแพะไล่ทุ่งต้องศึกษาพืชพันธุ์
เพื่อที่จะเลือกอาหารสัตว์ พืชบางชนิดมีประโยชน์สูงแต่แพะไม่ชอบกิน บางอย่างมีพิษและแพะชอบกิน รวมถึงการใช้สมุนไพรเพื่อสร้างหรือเสริมภูมิคุ้มกันและลดพยาธิ ยามพืชพันธุ์ขาดแคลน ก็ต้องประยุกต์และจัดการด้านอาหาร ต้องวางแผนปลูกหญ้า ปลูกถั่ว ผสมอาหารเองให้เป็น หรือทำแร่ธาตุก้อนเอง
จะเห็นว่าการเลี้ยงแพะไล่ทุ่งต้องใช้ศาสตร์และศิลป์ และมันไม่ง่ายนักที่ทุกคนจะทำได้ เพราะเราต้องรู้ว่าแพะที่เราเลี้ยงสามารถเพื่มน้ำหนักต่อตัว ต่อวันเท่าไร โดยใช้พืชพันธุ์ตามธรรมชาติและการจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินภาคสนามที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเวลา ต้องเตรียมรับมือในสถานการณ์ให้ทันท่วงที่ ทุกอย่างที่เราทำต้องจับต้องได้
วัดผลได้ ไม่ใช้แค่เสือในกระดาษ หรืองานวิจัยที่ขึ้นหิ้ง
ติดตามบทความหน้า จะเอาสาระ เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยมาฝาก สวัสดี
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น